by information Mon Jul 11, 2011 3:49 pm
- งานสุดฮอตยึดพื้นที่ความฝันคนรุ่นใหม่จะไปถึงได้อย่างไร? - ล่าม เหมือนแขนขานักบริหารจึงต้องเที่ยงธรรมวางตัวให้เกิดศรัทธา - ไกด์ มองทะลุความรู้สึกลูกค้าตอบโจทย์ - ทูต โน้มน้าวใจเก่งกิริยางามชนะทุกสนามต่อรอง ใครต่อใครมักบอกว่า “ต้องรู้มากกว่า 2 ภาษา ถึงจะเอาตัวรอดได้” ซึ่งจากแนวคิดเหล่านี้ทำให้ธุรกิจโรงเรียนสอนภาษาต่างออกมาเปิดตัวกันเป็นดอกเห็ดเพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่แห่กันเข้าไปเรียนเพื่อได้อาวุธทางปัญญาเหล่านี้มาครอบครอง แม้แต่ค่ายมือถือ อย่าง เอไอเอส ยังดึงความสนใจด้านภาษาของกลุ่มวัยรุ่นมาเป็นจุดขาย สร้างแคมเปญ “เก่งภาษากับเอไอเอส” ร่วมกับ 40 สถาบันสอนภาษา Smart Job ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ตัวแทนจาก 3 อาชีพที่เข้าร่วมงานในวันนั้น ได้แก่ ล่ามภาษาญี่ปุ่น ไกด์ภาษาจีน นักการทูต ที่โอกาสการเข้าสู่อาชีพของพวกเขาได้มาจากภาษาที่ 2
| มองผ่านเลนส์ กว่าจะมีวันนี้ อมรินทร์ เจริญแสงสุริยา ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานล่ามและเลขานุการภาษาญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ทำงานใน บริษัททาคาฮาชิ พลาสติค จำกัด เล่าว่า อาชีพนี้หัวใจสำคัญจะต้องเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างคนสองภาษาที่มีวัฒนธรรมหรือความคิดอาจแตกต่างกัน ดังนั้นตนต้องมีความสามารถเชื่อความคิดของคนทั้ง 2 ได้อย่างราบรื่น ซึ่งความเที่ยงธรรมเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้การเจรจาบรรลุเป้าหมาย เช่น ในสถานการณ์ประชุมที่มีความเคร่งเครียดของทั้งสองฝ่าย เราต้องเข้าใจความละเอียดอ่อนด้านความรู้สึกของผู้พูดและผู้ฟังโดยพยายามแปลออกมาให้เป็นภาษาที่ไม่เพิ่มความตึงเครียดเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันในการประชุมประจำอาทิตย์ล่ามต้องพยายามรวบรวมสิ่งที่ผู้บริหารมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำในแต่ละอาทิตย์ โดยทุกครั้งเมื่อประชุมต้องมีการบันทึกเพื่อนำประเด็นมาทบทวนและติดตามความคืบหน้าให้ได้ตรงตามแผนที่วางไว้ “อาชีพนี้เป็นเหมือนแขนขาของผู้บริหารต่างชาติ ฉะนั้นเราก็เหมือนกลไกหนึ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้องค์กรก้าวหน้า ขณะเดียวกันต้องวางตัวให้เหมาะสมเพราะพนักงานหลายคนให้ความเคารพในวิชาความรู้ที่เรามีแต่หากวางตัวไม่เหมาะสมศรัทธาก็จะไม่เกิดขึ้น ” อีกมุมหนึ่งเส้นทางที่ไม่ได้โปรยด้วยดอกกุหลาบแห่งการดำรงชีพ ทำให้เด็กรุ่นใหม่พยายามไขว่คว้าเพื่อให้ได้อาวุธความรู้เพื่อใช้ในการฟาดฟันในตลาดแรงงานที่แข่งขันทั้งบนโต๊ะและใต้โต๊ะ
| เช่นเดียวกับ อำไพ คุณากรธนัส ที่มองว่า การที่มีความรู้ภาษาจีนกลางเป็นประตูแห่งโอกาสให้เธอได้ทำงานตามที่ใจฝัน ซึ่งเดิมเริ่มงานในตำแหน่งเลขาผู้บริหารจากจีน แต่สุดท้ายก็เลือกที่จะออกมาเป็นมัคคุเทศก์ กว่า 20 ปี โดยทำงานให้กับ บริษัททัวร์ บางฉโลงทราเวล มายทัวริสไทย และเฮงเชียงทราเวล วาเคชั่นเอเชีย เธอมองว่า เสน่ห์ของการเป็นมัคคุเทศก์ได้ท่องเที่ยวและมีโอกาสเห็นสิ่งแปลกใหม่บวกกับมีความตื่นเต้นในการทำงานตลอดเนื่องจากต้องพบกับผู้คนหลากหลายอาชีพได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และทัศคติความคิดของแต่ระคนซึ่งบ่งบอกวิถีชีวิตเมื่อลูกทัวร์ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศ เช่น ผู้สูงอายุของจีนส่วนมากชอบเที่ยวใฝ่หาความรู้แม้อายุจะมากร่างกายไม่แข็งแรงบางครั้งไม่สมบูรณ์แต่ก็อยากศึกษาเพื่อค้นหาประวัติศาสตร์ของคนไทย ขณะเดียวกันคนอยู่ในสายงานนี้ต้องช่างสังเกตศึกษาพฤติกรรมของแต่ละคนเพื่อตอบสนองบริการที่เกินความคาดหมาย ซึ่งหากเป็นไกด์ให้กับกรุ๊ปทัวร์ตนต้องมีข้อมูลพื้นฐานด้านอายุ เพศ ความชอบส่วนตัว เพื่อนำมาเตรียมความพร้อมในการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า คนจีนมีอุปนิสัยพูดเสียงดัง และไม่ค่อยเชื่อฟังเมื่อเตือนบางสิ่งบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดอันตรายเพราะประเทศจีนมีการปกครองที่เป็นคอมมิวนิสต์ทำให้อุปนิสัยเหล่านี้ถูกปลูกฝัง ซึ่งตนต้องพยายามยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นโดยปราศจากความรู้สึกส่วนตัว
| สอดคล้องกับ พิมพิดา รวิรัฐ เจ้าหน้าที่การทูต กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เป็นดาวดวงใหม่ที่จะนำเรื่องราวมาถ่ายทอดเสน่ห์ของงานนี้ว่า การได้ท่องเที่ยวและเจอกับผู้คนที่หลากหลายซึ่งทำให้ตนเรียนรู้ตลอดเวลาเมื่อเจอกับเจ้าของภาษาในประเทศต่างๆ ที่มีสำเนียงการพูดแตกต่างกัน การเป็นนักการฑูตต้องเรียนรู้ตั้งแต่การเจรจาติดต่อโน้มน้าวใจเพื่อให้เป้าหมายบรรลุ ขณะเดียวต้องศึกษามารยาทตั้งแต่การกิน การวางตัว ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีปัญหาด้านวิชาการเนื่องจากส่วนมากจบในต่างประเทศ ปัจจัยพื้นฐาน นำสู่ความเป็นเลิศ อมรินทร์ แนะนำคุณสมบัติของผู้สนใจในอาชีพ ล่ามภาษาญี่ปุ่นว่า ต้องเป็นที่ผู้รักการใช้ภาษาและสนใจในการเรียนรู้ ตลอดเวลาเพราะการเป็นล่ามต้องมีความรู้เกือบทุกเรื่อง แต่ไม่จำเป็นต้องรู้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งหากผู้แปลมีความรู้รอบตัวจะช่วยให้การประชุมดำเนินไปอย่างราบรื่น เช่น ในการประชุมที่มีการพูดศัพท์เฉพาะมากทำให้คนแปลต้องมีความรู้เพื่อแปลศัพท์เหล่านั้นให้เกิดความกระจ่างมากที่สุด เขามองว่า การเป็นล่ามที่ดีต้องจบด้านภาษามาโดยตรง ซึ่งอาจจะเป็นโรงเรียนสอนภาษาหรือระดับปริญญาตรีเพราะต้องมีความสามารถถอดความหมายเพื่อทำความเข้าใจหลักไวยากรที่มีความซับซ้อน สำหรับอุปสรรค์ของเด็กรุ่นใหม่เกิดจากชั่วโมงบินที่ยังน้อยทำให้ไม่มีไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการค้นคว้าความรู้ซึ่งหากขยันเพียง 3 ปี ก็สามารถเทียบเท่ารุ่นพี่ได้แล้ว ด้านความรู้หากคนที่จบจากประเทศญี่ปุ่นจะได้เปรียบกว่าคนที่เรียนในเมืองไทยเพราะการไปใช้ชีวิตในประเทศของเจ้าของภาษาได้ซึมซับวัฒนธรรม ความรู้สึก ฤดูกาล เพื่อนำมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
| “ความท้าทายต่อไปของอาชีพนี้ มีหลายคนบอกว่า ไม่มีความก้าวหน้าในสายงาน แต่ตนกลับคิดตรงกันข้ามว่า คนที่เป็นล่ามต้องได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารสูง ซึ่งเป็นเกียรติอย่างสูงขณะเดียวกันค่าตอบแทนก็ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ซึ่งหากผู้ที่เรียนจบในไทยเงินเดือนเริ่มต้นที่20,000 บาท ด้านผู้ที่จบจากญี่ปุ่นเริ่มต้นเงินเดือนที่ 35,000 บาท” อำไพ มองว่าหลักสำคัญของผู้มาประกอบอาชีพไกด์ภาษาจีนจำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านภาษา ซึ่งส่วนใหญ่คนจีนมีภาษาท้องถิ่นหลายภาษาแต่ในทางการเขาจะใช้ภาษาจีนกลางเป็นหลัก ดังนั้นไกด์จำเป็นต้องแม่นยำเพราะบางครั้งสำเนียงการออกเสียงอาจเพี้ยนไปจากเดิม และต้องเป็นคนช่างสังเกตเพราะบางครั้งเพียงป้ายโฆษณาหรือป้ายบอกทางอาจเป็นส่วนที่ฝึกฝนให้ได้ความรู้ใหม่ๆ ได้รับรู้คำศัพท์ที่ไม่เคยรู้มาก่อนซึ่งจะเป็นตัวบ่มเพาะประสบการอีกทางหนึ่ง สำหรับความก้าวหน้าค่อนข้างสูงเนื่องจากประชากรจีนที่รักในการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากในแต่ละปี เด็นรุ่นใหม่ที่เข้ามาในอาชีพนี้มีมากแต่ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องจรรยาบรรณ เนื่องจากขณะที่มีไกด์ปลอมมากโดยเฉาะการใช้ผู้ที่เข้ามาในอาชีพนี้ใหม่ๆเป็นเครื่องมือเช่น การนำผู้ที่จบใหม่ซึ่งเพิ่งได้ใบประกอบอาชีพจัดตั้งองค์กรเพียงชั่วครั้งคราวแล้วก็หายไป “ความท้าทายในอนาคตการรักษาประสิทธิภาพของการทำงานเป็นเรื่องจำเป็นเพราะปัจจุบันโลกอินเทอร์เน็ตมีความรวดเร็วและรับรู้เกือบทั่วทุกมุมโลก ซึ่งหากใครทำผิดเพียงนิดเดียวอาจจะสร้างผลร้ายให้กับตัวเองในระยะยาว” ขณะเดียวกัน พิมพิดา นักการทูตรุ่นใหม่เล่าถึง แนวทางการเข้าสู้เส้นทางต้องมีความรู้ด้านภาษาอย่างน้อยต้องได้พื้นฐานภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพราะต้องติดต่อสื่อสารกับคนต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา และไม่จำเป็นต้องจบด้านภาษาโดยตรงแต่ต้องมีความรู้ด้านภาษาเป็นอย่างดี เช่นตนจบด้านนิติศาสตร์แต่ก็สามารถมาทำงานเหล่านี้ได้ซึ่งหากมีความรู้ภาษาย่อมเป็นพื้นฐานในการต่อยอดความรู้เหล่านั้นได้ หากมองจุดอ่อนของคนรุ่นใหม่ส่วนมากประสบปัญหาในการพูดโน้มน้าวใจผู้อื่น ซึ่งบางทีอาจกังวงมากเกินไปทำให้การวางตัวไม่เกิดความเหมาะสม ดังนั้นควรจะปล่อยให้เป็นไปอย่างสบายๆ “การเติบโตของอาชีพนี้ค่อนข้างมีความท้าทายสูงเนื่องจากมีกฎใหม่ว่า ผู้ที่เข้ามาทำงานในสายงานนี้ต้องไปประจำอยู่ต่างประเทศ 4 ปี ซึ่งเราจะได้ประสบการใหม่ๆอีกมากมาย” ดังนั้น เห็นได้ชัดว่าพื้นฐานของทั้ง 3 อาชีพมาจากพื้นฐานของภาษาและการฝึกฝน... เรื่อง : ศราวุธ ดีหมื่นไวย์ ภาพ : บริษัท กู๊ด มอร์นิ่ง มันเดย์ จำกัด
|
|
ข้อมูลจาก : manager.co.th